
แนวโน้มการท่องเที่ยวโลก
ในปี 2011 องค์การการท่องเที่ยวโลก (UNTWO) คาดว่าจะมีการเดินทางของนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 4-4.5% ซึ่งสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก และผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์สำหรับปี 2012 ว่าจะยังมีการเติบโตระดับปานกลางแม้ว่าจะเกิดความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยที่
ส่งผลต่อการเติบโตได้แก่ การเพิ่มค่าจ้างในเขตเศรษฐกิจใหม่ การว่างงานที่คงที่ และรายได้สุทธิในเขตเศรษฐกิจที่เติบโตเต็มที่ และบริษัทวิจัย IPK International คาดว่าในปี 2012 การเดินทางระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น 3-4% เช่นเดียวกับการคาดการณ์ของ UNWTO


สำหรับจำนวนการเดินทางระหว่างประเทศที่ IPK International คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2011 คือ 980 ล้านครั้ง เป็นการเดินทางที่มีการพักค้างแรมในต่างประเทศ 740 ล้านครั้ง การเดินทางภายในประเทศ 5.65 พันล้านครั้ง การใช้จ่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 8% เป็น 828 พันล้านยูโร โดยชาวเอเชียมีการใช้จ่ายต่อทริปสูงสุด แซงหน้าชาวอเมริกันและชาวยุโรป ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงการเดินทางระยะใกล้ในยุโรปที่มีสัดส่วนสำคัญ และการเดินทางระยะไกลของชาวเอเชียและชาวอเมริกันซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง
แนวโน้มด้านคืนพักจะเพิ่มขึ้น 4% เป็น 5.1 พันล้านคืน โดยนักท่องเที่ยวจะมีคืนพักเฉลี่ยลดลง นักท่องเที่ยวจากเอเชียจะมีคืนพักสั้นที่สุด ตามด้วยนักท่องเที่ยวยุโรป และนักท่องเที่ยวอเมริกัน
อุตสาหกรรมที่พักแรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2011 มีการเติบโตดียกเว้นในภูมิภาคแอฟริกา อัตราการเข้าพักสูงขึ้น และราคาห้องพักโดยเฉลี่ยสูงขึ้น รายได้ต่อห้องเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ขณะที่เอเชียแปซิฟิกและอเมริกาใต้รายได้เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นในระดับต่ำที่สุด และแอฟริกามีรายได้จากค่าห้องพักลดลง

การคาดการณ์ปี 2012
ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่าในปี 2012 การท่องเที่ยวจะเติบโตต่อไปในระดับที่ไม่สูงนักจากปี 2011 คือประมาณ 3-4% เนื่องจากผลการสำรวจพบว่าแม้ประชาชนจะกังวลกับสถานการณ์แต่ไม่กระทบต่อการวางแผนเดินทางในปี 2012 โดย UNWTO คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปีนี้จะมีจำนวนถึง 1 พันล้านคน
แนวโน้มการท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป

การเติบโตของนักท่องเที่ยวขาออกจากประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ชะลอตัว โดยเยอรมนีเติบโต 1% สหราชอาณาจักร 2% เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและอิตาลี ขณะที่ประเทศเล็กๆ กลับมีการเติบโตสูงกว่า เช่น สวิตเซอร์แลนด์ 9% สวีเดน 7% นอร์เวย์ และเบลเยียม 6% ฟินแลนด์ 5%

แม้ว่าในปี 2012 สถานการณ์ในยุโรปจะยังไม่แน่นอนแต่ชาวยุโรปก็ไม่มีแผนจะยกเลิกการเดินทาง จากการสำรวจข้อมูลชาวยุโรป 13 ประเทศพบว่า 43% ของผู้ตอบจะยังเดินทางท่องเที่ยวเป็นจำนวนเท่ากับในปี 2011 ขณะที่ 27% คาดว่าจะเดินทางบ่อยครั้งขึ้น และ 20% จะเดินทางน้อยลง โดยนักท่องเที่ยวที่มีความเชื่อมั่นสูงสำหรับการเดินทางในปี 2012 ได้แก่นักท่องเที่ยวจาก โปแลนด์ ฟินแลนด์ และ นอร์เวย์ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากสเปนและอิตาลี มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด ทั้งนี้ IPK คาดว่าในปี 2012 การท่องเที่ยวจะเติบโต 2-3% และจะเป็นสถิติใหม่ที่มีการเดินทางสูงที่สุดเหนือกว่าเมื่อปี 2008
ในฐานะของจุดหมายทางการท่องเที่ยวนับว่าปี 2011 มีการเติบโตที่ดี จากการสำรวจใน 26 ประเทศของยุโรป ณ เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2011 พบว่ามีคืนพักเพิ่มขึ้น 8.9% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 9.7% โดยมีนักท่องเที่ยวจากจีน รัสเซีย และอินเดีย เพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ขณะที่นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ทั้งนี้ มีการเติบโตที่แข็งแกร่งในยุโรปตะวันออก จากการสำรวจของ ETC (European Travel Commission) ใน 20 ประเทศของยุโรปพบว่าปี 2011 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ายุโรปเพิ่มขึ้น 6% โดยมีปัจจัยสำคัญคือการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น โดยสายการบินต้นทุนต่ำ สถานการณ์ที่ดีในตลาดสำคัญๆ และการใช้จ่ายเงินเพื่อทำการตลาดสูงขึ้นเทียบกับเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมา สำหรับปี 2012 คาดว่าจะมีการเติบโตของนักท่องเที่ยวขาเข้า 2-3% โดยขึ้นอยู่กับระดับความไม่แน่นอน ณ ปัจจุบัน
แนวโน้มการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การเดินทางท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งเนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นภายในภูมิภาคและคาดว่าในปี 2012 จะยังคงเป็นไปในเชิงบวกแม้ว่าบรรยากาศทางเศรษฐกิจของโลกจะไม่แน่นอน โดยการเดินทางขาออกเพิ่มขึ้น 6% ในปี 2011 จากการสำรวจของ Asian Travel Monitor และคาดว่าในปี 2012 จะเพิ่มขึ้น 5% โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตรวดเร็วกว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก
สำหรับการเดินทางขาออกในปี 2011 มีการเติบโตต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาซึ่งเพิ่มขึ้น 14% โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีมีนักท่องเที่ยวขาออกเพิ่มขึ้น 6% แม้ว่านักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นจะลดลง โดยจีนเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขาออกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้ความต้องการเดินทางในเอเชียเพิ่มขึ้นคือชนชั้นกลางที่มีฐานะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในเอเชียเติบโตดีโดยเฉพาะในจีน เกาหลีใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย ประชากรในประเทศเหล่านี้มีรายได้สูงขึ้น จึงมีความต้องการและสามารถจะเดินทางต่างประเทศมากขึ้น ข้อมูลจาก Capgemini และ Merrill Lynch Global Wealth Management ระบุจำนวนของมหาเศรษฐีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเกือบ 10% เป็น 3.3 ล้านคน ขณะที่ในยุโรปเพิ่มขึ้นเพียง 6% เป็น 3.1 ล้านคน วิถีชีวิตของชาวเมืองในเอเชียที่ซับซ้อนมากขึ้นจะสร้างความต้องการสินค้าที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้นเช่น มรดกวัฒนธรรม สวนสนุกแบบ “edutainment” , soft adventure , luxury holiday , sport tourism นักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดียจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีอำนาจซื้อสูงขึ้น ประเทศอื่นๆที่น่าจับตามองคือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่วนนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นจะมีการเติบโตจากแรงกระตุ้นของการเปิดสายการบินต้นทุนต่ำในปี 2012

คาดการณ์ปี 2012
เอเชียจะยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปประสบปัญหา Asian Travel Monitor คาดการณ์ว่า การเดินทางท่องเที่ยวของชาวเอเชียในปี 2012 จะยังเป็นบวก โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 32% ระบุว่าจะเดินทางเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน ขณะที่ 37% วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวเท่ากับปี 2011 มีเพียง 19% ที่จะเดินทางน้อยลง ในภาพรวม IPK คาดการณ์ว่าการเดินทางขาออกของชาวเอเชียปี 2012 จะเพิ่มขึ้น 5% โดยมีจีนและอินเดียเป็นผู้นำ ขณะที่ญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับรองในเรื่องความเชื่อมั่นในการเดินทาง
ในฐานะของจุดหมายทางการท่องเที่ยว UNWTO คาดการณ์ว่ามีการเติบโตของการเดินทางระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 5-6% ในปี 2011 (เอเชียใต้ 14% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 12% ตามข้อมูลของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (PATA)) โดย 3 ประเทศที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดคือภูฏาน ศรีลังกา และ ประเทศไทย

ข้อมูลจาก PATA ระบุว่า ในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้คาดว่าภูมิภาคที่เป็นจุดหมายปลายทางหลักจะมีอัตราการเติบโตไม่เกิน 10% เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือคาดว่าจะเติบโต 5% ในปี 2012 และ 5.5% ในปี 2013 ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโต 7% และ 6% ตามลำดับ ส่วนเอเชียใต้จะเติบโต 6% และ 5.6% ตามลำดับ
แนวโน้มการท่องเที่ยวภูมิภาคอเมริกา

ในทางตรงกันข้าม อเมริกาใต้มีการเดินทางขาออกอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปี 2011 โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีมีการเติบโต 15% แต่คาดว่าอัตราดังกล่าวจะเริ่มชะลอตัวลงจากการสำรวจของ American Travel Monitor ทั้งนี้ ชาวบราซิลยังคงใช้จ่ายเพื่อการเดินทางต่างประเทศมาก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและค่าเงินที่แข็งแกร่ง ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2011 มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 45% จากที่เคยเพิ่มขึ้น 50% เมื่อปีก่อน
ข้อมูลจากนักวิจัยของ Mexican Tourism Board ระบุว่านักท่องเที่ยวจากตลาดเกิดใหม่ในอเมริกาใต้ 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี และเม็กซิโก ส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีการศึกษา ฐานะดี โดยมากเดินทางเพื่อพักผ่อน มีแนวโน้มจะเป็น Sightseeing tour นักท่องเที่ยวบราซิลมักจะเดินทางระยะไกลและใช้เงินมากกว่า ขณะที่นักท่องเที่ยวชิลีและอาร์เจนตินามักจะท่องเที่ยวในอเมริกาใต้ ส่วนนักท่องเที่ยวเม็กซิกันนิยมไปท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ข้อจำกัดในละตินอเมริกาคือยังขาดแคลนสายการบินต้นทุนต่ำที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของการเดินทางระยะไกล

นักท่องเที่ยวชาวจีนรุ่นใหม่
สาธารณรัฐประชาชนจีนจะกลายเป็นประเทศหลักที่มีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวโลกจากการที่มีนักท่องเที่ยวขาออกเพิ่มขึ้น และเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย นักท่องเที่ยวชาวจีนรุ่นใหม่จะเป็นคนหนุ่มสาว มีฐานะ แต่งตัวดี และใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นกลุ่มที่ต้องการประสบการณ์เฉพาะบุคคลควบคู่กับการบริการที่พร้อมจะรองรับคนจีน

นักท่องเที่ยวจีนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะเดินทางด้วยตนเองมากขึ้น มีความต้องการสูงขึ้น (more demanding) สนใจเลือกรูปแบบการท่องเที่ยวที่ให้ประสบการณ์มากกว่าที่ราคาถูก และต้องการบริการที่มีคุณภาพ แทนที่จะเป็นการเดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์แบบเดิม อย่างไรก็ดี ภาษาและวัฒนธรรมยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน จุดหมายทางการท่องเที่ยวหรือโรงแรมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงควรมีบริการที่พร้อมสำหรับชาวจีน (China-ready) เช่น มีกาต้มน้ำสำหรับต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รองเท้าแตะใส่ในห้องพัก รวมถึงเมนูอาหารจีน พนักงานที่พูดภาษาจีนได้ ตลอดจนออดิโอไกด์ภาษาจีนตามแหล่งท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์
พลังขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดการเดินทางขาออกของชาวจีนคือกลุ่ม young professionals (คนหนุ่มสาวที่มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ) ที่มีรายได้สูง และเป็นกลุ่มตลาดที่สำคัญ สิ่งที่ทำให้กลุ่มตลาดนี้แตกต่างจากกลุ่มผู้มีฐานะในประเทศพัฒนาแล้ว คือ ผู้บริโภคชาวจีนที่มีฐานะอายุน้อยกว่าคนที่มีฐานะในสหรัฐฯและยุโรปเฉลี่ยประมาณ 20 ปี และคนกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะสนใจประสบการณ์เฉพาะบุคคล เป็นนักช้อปมือเติบโดยเฉพาะกับสินค้าแบรนด์ดังจากโลกตะวันตก โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครั้งในการเดินทางของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นในอัตราเกินกว่า 10%

สิ่งที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรตระหนักสำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตกับกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ได้แก่
- ไม่ควรแปลเว็บไซต์จากภาษาสากลเป็นภาษาจีนโดยตรง แต่ควรทำเว็บไซต์เฉพาะที่มีเนื้อหา เหมาะสมกับตลาด และลิงค์กับเสิร์ชเอ็นจิ้นภาษาจีน (Baidu) และสื่อดิจิตอล
- เว็บไซต์ต่างๆ ควรมีโฮสท์อยู่ในประเทศจีนเพื่อให้สามารถตอบโต้ในกรณีของการเซ็นเซอร์ และควรหลีกเลี่ยงการลิงค์กับโซเชียลมีเดียต่างประเทศที่ถูกห้ามใช้ในจีน (Facebook Youtube และ Twitter)

- ควรทำให้ผู้บริโภคสามารถโต้ตอบออนไลน์ได้ และลิงค์กับโซเชียลมีเดียในท้องถิ่น
ทั้งนี้ผู้ประกอบการและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวควรทราบว่าผู้บริโภคชาวจีนจะโยงเอาเว็บไซต์ที่ไม่ตรงประเด็นไว้กับประสบการณ์ที่ไม่ดีและการขาดความเคารพต่อพวกเขา
ความยั่งยืน

ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ ลิปแมน ผู้ช่วยเลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกได้แสดงทัศนะต่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยสรุปคือ “Green Growth” หรือการเติบโตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นวิสัยทัศน์ใหม่สำหรับปี 2050 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราต้องสร้างเสถียรภาพให้แก่อุณหภูมิโลกเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่รุนแรงเกินไป ซึ่งมาตรการใหม่นี้รวมถึงการปรับเปลี่ยนการลงทุนทุกรูปแบบ ตลอดจนการผลิตและการบริโภคให้เป็นรูปแบบที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low carbon) เป็นองค์รวมเชิงสังคม เพื่อประโยชน์ของโลกและสิ่งที่อาศัยอยู่ในโลก ภาคการท่องเที่ยวจะมีบทบาทสำคัญในฐานะส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยจะมีสัดส่วนเป็น 5-10% ของเศรษฐกิจโลกและการจ้างงานทั่วโลก โดยมีการเติบโตรวดเร็วกว่า GDP และเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุกทศวรรษ
การเดินทางท่องเที่ยวในอนาคตจะต้องอยู่บนพื้นฐานของ วิธีการเดินทางที่ยั่งยืน จุดหมายปลายทางที่ยั่งยืน และวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สินค้าทางการท่องเที่ยวทุกอย่างจะต้องมีความยั่งยืนและจะถูกควบคุมโดยจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว เพราะเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ
การศึกษาจะมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ โดย ผู้แทนของ UNWTO กำลังดำเนินการจัดตั้ง “Green Growth & Travelism Institute” ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ World Environment University ที่จะให้การสนับสนุนด้านวิชาการสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการขับเคลื่อนประเด็นแรกคือจะต้องมีกองทุนระหว่างประเทศให้การสนับสนุน

โดยทั่วไปนักท่องเที่ยวรับรู้ถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และมีสมดุลในการรับรู้ถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เห็นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ในท้องถิ่นและการจ้างงานว่ามีความสำคัญเท่าเทียมกันในการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จากการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสามารถจำแนกนักท่องเที่ยวได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มที่มีความสมดุล หรือ balanced type (33%) เห็นความสำคัญของทั้ง 3 ด้าน เท่าเทียมกัน
2. กลุ่มที่มีความลังเลสงสัย หรือ skeptic (25%) เห็นความสำคัญของทั้ง 3 ด้านในระดับต่ำ
3. กลุ่มที่มองเชิงนิเวศ หรือ ecological type (15%) เห็นว่าแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากที่สุด
4. กลุ่มที่มองท้องถิ่น หรือ Localised type (15%) เห็นว่าแง่มุมด้านความยั่งยืนของท้องถิ่นมีความสำคัญสูงสุด เช่น วัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น
5. กลุ่มเศรษฐสังคม หรือ socio-economic type (12%) เน้นความสำคัญของมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ พบความแตกต่างอย่างมากในแต่ละประเทศซึ่งสะท้อนถึงลักษณะของประชากรและเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ


การล่องเรือสำราญเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพยายามปรับตัวให้เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมองว่าเป็นโอกาสมิใช่อุปสรรค ทั้งนี้ในช่วงปี 2005-2010 การล่องเรือสำราญทั่วโลกเติบโตขึ้นประมาณ 35% สำหรับในยุโรปการล่องเรือสำราญมีส่วนแบ่ง 6.5 ล้านคนต่อปีหรือประมาณ 2% ของการเดินทางท่องเที่ยวของชาวยุโรป จากสถิติของ European Travel Monitor แต่การเดินเรือยังปรับตัวช้าในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งในทางทฤษฏีแล้วความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมทั้งวงจรชีวิต เริ่มตั้งแต่การต่อเรือจนถึงการจัดการเดินเรือ การบริโภคบนเรือ การกำจัดขยะ ตลอดจนความยั่งยืนด้านสังคมและวัฒนธรรม แต่ในทางปฏิบัติดูจะแตกต่างออกไป แล้วแต่มาตรการของสายการเดินเรือ และขณะนี้มีกลุ่มนักอนุรักษ์เริ่มมองธุรกิจการเดินเรืออย่างจริงจังโดยกลุ่ม Friends of the Earth ได้จัดเกรดของสายการเดินเรือโดยพิมพ์ลงใน Cruise Ship Environmental Report Card
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการล่องเรือสำราญได้นำมาตรการ “Triple E” มาใช้โดยมีพื้นฐานคือ Engineering (การสร้างเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) Education (กิจกรรมต่างๆและมีการรายงานผล) และ Enforcement (การมีกฎหมายควบคุม) อย่างไรก็ดี บริษัทเดินเรือควรมีการควบคุมมากกว่านี้ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของการเดินเรือ ทั้งในเรื่องของกิจกรรมบนเรือและการทัศนาจรบนฝั่ง ที่นักท่องเที่ยวจะช่วยสร้างผลกระทบที่ดีต่อชุมชนท้องถิ่น โดยทำให้เกิดเป็นความรับผิดชอบที่ยั่งยืนซึ่งครอบคลุมผู้มีส่วนร่วมหลายภาคส่วนไว้ในมาตรการร่วมเดียวกัน ทั้งนี้อุตสาหกรรมเดินเรือสำราญควรดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเปิดเผยและถือว่าความยั่งยืนเป็นโอกาสของธุรกิจ
คนรวย VS. คนจน
คนฐานะร่ำรวยยังคงเดินทางท่องเที่ยวแม้จะเกิดวิกฤติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่คนที่มีรายได้ต่ำต้องลดระดับการเดินทางลง และคนมีเงินในเอเชียก็มีมากขึ้นกว่าในยุโรปและอเมริกา ขณะที่มีชาวยุโรปกลุ่มเล็กๆ ที่มีรายได้ต่ำ แต่ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนค่อนข้างสูง
ทั่วโลกมีประชากรวัยทำงาน 1.4 พันล้านคน และ 30% ของจำนวนดังกล่าวมีรายได้เพียงพอสำหรับการท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยมีการเดินทาง 700 ล้านครั้งต่อปีตามข้อมูลของ World Travel Monitor และมี 31% ของการเดินทางต่างประเทศที่เป็นการเดินทางของผู้มีรายได้ต่ำ ขณะที่ 69% เป็นการเดินทางของผู้มีรายได้สูง

Online Marketing

ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวจำเป็นต้องพัฒนาแบรนด์ในยุค “post advertising” โดยแบรนด์จะต้องเป็นมากกว่าโลโก้และสโลแกน แบรนด์ที่ดีจะต้อง “แสดงออกถึงสมรรถนะสูงสุด (ของสินค้า) อย่างกะทัดรัด” (condensed expression of peak performance) และควรจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ดึงดูดใจ และน่าเชื่อถือสำหรับกลุ่มเป้าหมาย จุดหมายทางการท่องเที่ยวต้องปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของอุปสงค์ นอกเหนือจากความต้องการพื้นฐาน 5 ประการของลูกค้า (ได้แก่ การพักผ่อน (relaxation), การค้นหา (discovery), ความสนุกสนาน (enjoyment), การเรียนรู้ (learning), และ การพบปะ (meeting)) ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า 12 ประการ ซึ่งครอบคลุม ทั้งเรื่องกิจกรรม การค้นพบตนเอง การดูแลสุขภาพ จนถึง Hyper-tourism และการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และเหนือสิ่งอื่นใด แหล่งท่องเที่ยวควรกำหนดตำแหน่งของตนเองในแง่ของ Theme มิใช่ในเชิงภูมิศาสตร์ โดยใช้ความแตกต่างของ “ประสบการณ์” ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับเป็นแนวทาง

ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือ Tiscover ซึ่งเป็นการทำการตลาดออนไลน์ของบริษัทในออสเตรียที่ขายแหล่งท่องเที่ยวในออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และอิตาลี โดยมี Themes ของการท่องเที่ยวและบูรณาการกับการจองห้องพักออนไลน์ซึ่งบริษัทนี้มีบริการดำเนินการตลาดออนไลน์ด้วย
ช่องทางการจองห้องพักออนไลน์อีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้ชื่อ Wimdu ตั้งอยู่ในเบอร์ลินเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2011 เสนอที่พักราคาถูกที่เป็นส่วนตัว โดยขณะนี้มีฐานข้อมูลที่พัก 35,000 แห่ง ในกว่า 100 ประเทศ และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้พบปะกับคนท้องถิ่น พักในบ้านของคนท้องถิ่น และค้นหา “ส่วนที่ซ่อนอยู่” ของแหล่งท่องเที่ยวซึ่งมีเฉพาะคนท้องถิ่นเท่านั้นที่รู้ เป็นการผสมผสานระหว่างโซเชียลเน็ตเวิร์คและลิสต์รายชื่อของที่พัก โดยมีการตรวจสอบคุณภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้บริการผิดวัตถุประสงค์
ที่มา: ITB World Travel Trends Report 2011/2012 www.itb-berlin.com/library
เรียบเรียง : โศรยา หอมชื่น http://etatjournal.com/web/menu-read-web-etatjournal/menu-2012/menu-2012-jan-mar/382-12555-ipk-international
เรียบเรียง : โศรยา หอมชื่น http://etatjournal.com/web/menu-read-web-etatjournal/menu-2012/menu-2012-jan-mar/382-12555-ipk-international
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น